แชร์

กว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม

อัพเดทล่าสุด: 31 ต.ค. 2024
30 ผู้เข้าชม
กว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม

กว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม


ป๊อบในฐานะที่คลุกคลีกับวงการนี้มาหลายปีก็มีประสบการณ์พอจะเล่าได้ไม่น้อย แต่สิ่งที่ป๊อบจะเล่าต่อไปนี้อยากให้ทุกคนรู้ว่ามันคือ “ภาพรวม” นะครับ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นสำนักพิมพ์ไหน เพราะป๊อบก็ไม่ได้อยู่แค่สยามอินเตอร์ฯ แต่ป๊อบตระเวนไปหลายที่หลายแห่ง รวมทั้งยังทำหนังสือเล่มล่าสุดเองด้วย ( เอ่อ ไม่มีสำนักพิมพ์เองนะครับผม หลายคนเข้าใจผิด ป๊อบแค่ทำงานทุกอย่างและมีทีมงานเอง แต่จ้างโรงพิมพ์ต่างหากนะครับ ) ดังนั้นป๊อบจะนำประสบการณ์จากที่ต่างๆมาสรุปให้ฟังกัน

ทุกสิ่งเริ่มขึ้นจาก...

 

1. ต้นฉบับ

   ต้นฉบับก็คือ "ผลงาน" ของ "นักเขียน" และสำหรับบางคน คำสั้นๆนี้อาจเป็นโครงการณ์ข้ามชาติที่ไม่รู้ว่าจะเสร็จทันวันโลกาวินาศหรือไม่ ? ระยะเวลาของต้นฉบับ เป็นอะไรที่ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับฟิลลิ่ง ความสุนทรีย์ ความอิสระ ความมุมานะของตัวนักเขียน ซึ่งสิ่งต่างๆที่เน้นตัวหนานั้นจะมีมากถึงจุดสุดยอดในช่วง 2 เดือนก่อนกำหนดส่งต้นฉบับ หรือหลังจากที่เหล่านักเขียนได้รับการสารกระตุ้นพิเศษอันมีชื่อว่า "สายตรงจากบอกอ" นั่นแล พวกเราจะเริ่มตะบี้ตะบันแหกขี้ตาเขียนกัน
   ดังนั้นสิ่งแรกที่ป๊อบจะพูดในหัวข้อนี้ก็คือทริคเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับต้นฉบับครับผม
   (อันนี้อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงนะครับ)
  

    1.1 ) โครงเรื่อง
            เป็นหัวใจหลัก หรือ Core Concept ของงานทุกชนิด - สำหรับป๊อบโครงเรื่องคือการวาดแผนที่จินตนาการ เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดหมาย เราต้องรู้ว่าเรื่องของเราจะเริ่มยังไง ? จบยังไง ? คิดไว้ก่อนคร่าวๆ ตรงนี้จะเป็นจุดที่ง่ายมาก เพราะนักเขียนส่วนใหญ่จะมีเนื้อเรื่องอยู่ในหัวหมดแล้ว วิธีการก็คือเขียนออกมา ไม่ต้องมีระเบียบก็ได้ครับ เขียนออกมาเลย มั่วๆนั่นแหละ เอาให้รู้ว่า 1 ถึง 10 เป็นยังไงแค่นั้นพอ
          แล้วจากนั้นค่อยมาใส่ความตื่นเต้น
          การขับรถบนทางด่วนย่อมไม่ตื่นเต้นเท่าการขับรถในป่าแสนวิบาก งานเขียนก็เช่นกัน หลังจากที่เรารู้ทุกอย่าง 1-10 เราก็ควรใส่รายละเอียดเพิ่ม 1.1, 1.2, 2.5,8.3 อะไรก็ว่าไป เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่องอันหมายถึง ความซับซ้อน ความพลิกผัน จุดหักมุม ปริศนา ความเร้าใจ ความลุ้นระทึก ต่างๆนานาลงไป เพื่อไม่ให้เราหลงทางระหว่างการเขียน ซึ่งตรงจุดนี้ นักเขียนต้องอาศัยประสบการณ์เองล่ะครับ สอนกันไม่ได้จริงๆ เพราะที่ป๊อบเป็นอยู่ก็ทำได้แค่ในมาตรฐานของตัวป๊อบ ถามว่าสู้นักเขียนรุ่นพี่ในยุทธจักรได้ไหม ตอบได้เลยครับว่า "ไม่" เด็ดขาด
          ในส่วนของโครงเรื่อง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ "การดำเนินเรื่อง" - "ตัวละคร" - "ฉาก" , มันจะเป็นจุดที่นักเขียนคิดสร้างตัวละครต่างๆขึ้นมา ยกตัวอย่างไวท์โรดของป๊อบ ซึ่งมีตัวละครเยอะมาก ดังนั้นป๊อบต้องเขียนชื่อตัวละครทั้งหมด รายละเอียดของเขา ภูมิหลัง ปริศนา การแสดงออก Character รวมถึงการปรากฏตัวของเขาในลักษณะค่อนข้างละเอียด เพื่อให้เราจำเขาได้ ใช้เขาได้ถูกสถานการณ์ สำหรับรูปแบบของตัวละครป๊อบคิดว่าแต่ละคนคงมีแนวคิดต่างออกไป เงียบขรึม สนุกสนาน อะไรก็ตาม ป๊อบไม่ขอเข้าไปยุ่งตรงนั้นเพราะบางทีทำได้ดีกวาป๊อบด้วยซ้ำ เพียงแต่ข้อสำคัญก็คือ "คุณต้องไม่ลืมตัวละคร" เท่านั้นเอง ส่วนเรื่อง "ฉาก" หลายคนติดปัญหากับจุดนี้ เพราะนึกออก แต่บรรยายไม่ถูก
          ทำไมไม่วาดล่ะครับ ?
          วาดสวยไม่สวย ไม่เป็นไร แค่เราอ่านแล้วรู้ก็พอ เมื่อเราวาดภาพ เราจะแต่งเติมไปเรื่อย แล้วคราวนี้เราจะสามารถบรรยายมันได้งายขึ้นเยอะ เชื่อเถอะครับผม ป๊อบลองมาแล้ว
         หลังจากเราได้โครงเรื่องมั่ว + การใส่จุดเพิ่มเติม + รายละเอียด + ตัวละคร + ฉาก + การดำเนินเรื่อง ก็มาถึงจุด "การสรุปโครงเรื่อง" นั่นก็คือการจัดระบบและระเบียบแบบแผนให้โครงเรื่องของเราอย่างมีรูปแบบ ทำมันให้สวยงาม อ่านเข้าใจง่าย และมีที่ว่างสำหรับการเพิ่มเติมเยอะ
         เพราะถึงวันนี้คุณจะได้โครงเรื่องที่เพอร์เฟค แต่พรุ่งนี้ใครจะรู้คุณอาจจะมีอะไรที่ดีกว่าก็ได้ เพราะฉะนั้นเว้นเผื่อความคิดใหม่ๆด้วยนะครับ อ้อ แนะนำให้นักเขียนทุกคนมีสมุดพกติดตัวคนละเล่มครับ ป๊อบพกตลอด เผื่องอะไรดีๆก็จดเลย หรือจะเป็นการอัดเสียงก็ได้ครับ ป๊อบทำบ่อยเหมือนกัน ความคิดเราจะได้ไม่ตกหล่นระหว่างทางนะครับ
        ซึ่งหลังจากที่เรามีโครงเรื่องแสนสมบูรณ์แล้วเราก็จะมาเขียนกัน 

 

   1.2 ) การเขียนเนื้อเรื่อง
            ก็คือการเอาโครงเรื่องที่มีอยู่มาเพิ่มเติมเรียงร้อยให้กลายเป็นนิยายนั่นเอง ตรงจุดนี้ป๊อบจะไม่ขอแนะนำมาก เพราะทุกคนมีสไตล์ภาษา การคิดเป็นของตัวเอง แต่ที่ป๊อบจะแนะนำก็คือสิ่งที่ถูกถามมาทางเมลล์
           "แรงบันดาลใจ"
            แรงบันดาลใจในการเขียนเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งแม้เราจะมีโครงเรื่องหรูเลิศแล้ว แต่ก็เขียนไม่ได้ซักที พยายามนั่งหน้าคอมหลายต่อหลายครั้งมันก็เล็ดรอดออกมา สำหรับคนที่เขียนไม่ออก หรือที่เขาเรียกว่า "ตัน" ป๊อบมีวิธีแก้ไขครับ
โดยขั้นแรกที่เราต้องทำก็คือ
           - เลิกเขียน ใช่ เลิกเขียนไปก่อน ปิดคอม หยุดไปเลย เงียบไปเลย ไม่ต้องยุ่งกับมัน มันไม่ได้ก็คือไม่ได้ครับ จะไปดันทุรังทุกรังทำไม
จากนั้น
           - ไปเที่ยว ดูผู้คน ศึกษาสังคม ตากแอร์เย็นฉ่ำ ช๊อปปิ้งให้สนุก เข้าป่า กางเต็นท์ มันจะมีเรื่องให้เขียนเองแหละครับ
           - อ่านหนังสือ เพื่อหาแนวทาง บางเล่ม อาจจะทำให้เรางอะไรเด็ดๆ บางเล่มอาจทำให้เราอยากเปลี่ยนแนวก็ได้ครับ
           - ดูหนัง เวลาป๊อบจะเขียนหนังสือป๊อบจะซื้อหนังเป็นสิบๆแผ่นแล้วดูตั้งแต่ตื่นจนนอน รวมทั้งจะออกไปโรงหนังตั้งแต่ 11 โมงเช้า เพื่อดูหนังประมาณ 3 -4 เรื่อง และเสร็จเที่ยงคืน (บางครั้งตี 1 ) เพื่อให้เรามีแรงหึกเหิม มีความอยากจะสร้างโลกของเราครับ
           - เล่นเกมส์ เป็นหนทางที่น่าสนใจครับ เพราะเกมส์คือ "นิยายที่ถูกถ่ายทอดเป็นภาพ" อยู่แล้ว ได้เล่น ได้คิดด้วย เจ๋งครับ
          - เมาธ์แตก เชื่อเถอะครับ งานเขียนส่วนหนึ่งมาจากการนินทาทั้งนั้น ไม่งั้นพวกหนังสือเมาธ์ดาราจะเต็มแผงรึ ?
          - พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับนักเขียน จะทำให้เราได้เห็นความแตกต่างมากขึ้น เผลอๆเขาจะเป็นแรงหนุนให้เราอยากมีต้นฉบับเป็นของตัวเองเร็วๆด้วยครับ
          - ฟังเพลง สำหรับบางคนการฟังเพลงก็เป็นปลุกใจอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ
นี่แค่คร่าวๆนะครับ บางคนอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ก็แล้วแต่ครับผม แต่นี่วิธีของป๊อบอ่ะนะครับ ซึ่งหลังจากที่เราตะบี้ตะบันจนต้นฉบับเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ

 

2. ) Re Write (โดยนักเขียน)
           หลังจากพิมพ์ทุกอย่างเสร็จ ให้พักซัก 2 วันครับ เพื่อ "เคลียร์ความคิด" ลบความคิดแง่บวกเกี่ยวกับนิยายของเราไปให้หมด ไปทำกิจกรรมอะไรต่างๆก็ได้ให้ลืมมันซะ จากนั้นค่อยกลับไปอ่าน เราจะพบว่ามี "ข้อผิดพลาด" ตูมเลยครับผม ทั้งสำนวน การสะกด วรรคตอน ย่อหน้า โอ้ว สารพัดสารเพ ให้ค่อยๆแก้ไปครับ แก้ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย จนหมด แล้วก็แก้อีกรอบ เพราะนิยายหนึ่งเล่มไม่ได้มีแค่ 5 หน้านะคับ ดูรอบเดียวไม่ถ้วนหรอกครับ ต้องสองรอบขึ้นไป ถ้ามากกว่านั้นก็ดีครับแล้วแต่ความอึดของนักเขียน  ( ไม่ได้โม้นะ ไวท์โรดภาค 3 แปดร้อยหน้า ป๊อบแก้เอง 6 รอบเลยนะครับ แต่คำผิดก็ตูมอยู่ดี)

หลังจากแก้จนอิ่มหนำสำราญแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ

 

3.) ส่งงาน Editor
             Editor หรือ "บรรณาธิการ" ก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจตรา "ต้นฉบับ" ของนักเขียนครับ อาชีพนี้จะมีหูตาที่ละเอียดถี่ถ้วนมากครับผม อย่างพี่นีแห่งนานมีบุ๊คที่เป็นบรรณธิการให้ girl and a doll ที่ป๊อบลงในเล่มโปรด จัดว่าเป็นบรรณาธิการที่เยี่ยมากครับ คำโน่นคำไหนไม่เหมาะจะแนะนำหมด คำไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ พี่เขาจะละเอียดจริงๆ อย่าคิดว่าการที่เราตรวจหลายๆรอบจะเพอร์เฟคนะครับ ไม่เลยครับ มันอาจจะเหลือคำผิดเป็นร้อยเป็นพันก็ได้ บรรณาธิการจะทำหน้าที่แก้ไข แนะนำ อะไรที่สมควรต่างๆ แล้วจากนั้น "ต้นฉบับ" ที่ถูกแก้ไขแล้วของเราจะถูกปริ๊นท์ใส่กระดาษ A4 เพื่อส่งกลับมาที่นักเขียนอีกทีครับ - ระยะเวลาตรงนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ครับ
                สำหรับนักเขียนที่ส่งงานครั้งแรก (คือไม่ได้เป็นนักเขียนในสังกัด) การพิจารณาต้นฉบับจะกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์  - 6 เดือนขึ้นไปครับ แล้วแต่ดวงแล้วแต่โอกาสจริงๆครับผม และถ้าเขาไม่ติดต่อมาใน 6 เดือน ก็ควรทำใจครับ แต่ก็ไม่แน่นะอาจจะมีปาฏิหาริย์ อิอิ สามารถเลือกได้ว่าจะ "ลุ้นต่อ" หรือ "ส่งที่ใหม่" แล้วแต่ครับผม

 

4. ) Edit (โดยนักเขียน)
            ตรงกระบวนการนี้ "ต้นฉบับ" ของเราจะเหลือข้อผิดพลาดน้อยมากครับ เราจะได้ต้นฉบับมาดูอีกครั้งเพื่อตรวจว่ามีอะไรตกหล่นหรือไม่ ? ตรงนี้บรรณาธิการส่วนใหญ่จะแจ้งมาว่า "ขอแก้ตรงนี้" "ขอแนะนำตรงนี้" "มีข้อสงสัยตรงนี้" นั่นก็เป็นหน้าที่ของเราครับที่ต้องปรับไปตามความเหมาะสม เพราะอย่าลืมว่า บรรณาธิการเป็นคนแรกๆที่อ่าน สิ่งที่เขาไม่เข้าใจ หรือ สงสัย ก็อาจเป็นสิ่งที่ "คนอ่าน" ทั่วไปคิดเหมือนกัน ดังนั้นตรงไหนไม่เคลียร์เราต้องทำให้เคลียร์ สำนวนตรงไหนอยากให้คงของเราไว้ก็บอกได้ครับ แต่ส่วนใหญ่บรรณาธิการจะแก้มาให้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากการตรวจตรา เราสามารถเพิ่มเติมความสมบูรณ์ของเนื้อเรื่องได้ด้วย ระยะเวลาตรงนี้ส่วนมากจะ 1 สัปดาห์ครับ

5. ) ส่งกลับไปบรรณาธิการ เพื่อตรวจดูสิ่งที่เราแก้ไขอีกครั้ง

 

6. ) ส่งกลับนักเขียนเพื่อตรวจตราครั้งสุดท้าย
       ตรงนี้การแก้ไขจะไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วนะครับ ผลงานจะสมบูรณ์ 95% แล้ว ดังนั้นหน้าที่มีแค่ตรวจดูความละเอียดของเนื้อเรื่องเท่านั้นครับ (ยกเว้นกรณีปีอบหน่อยแล้วกันครับ ป๊อบแก้ 5-6 ครั้งเลยแหละ) ซึ่งเมื่อเราส่ง "ต้นฉบับ" กลับไปที่บรรณาธิการ มันก็จะกลายเป็น "ต้นฉบับ 100%" ครับ

 

7.) การจัดหน้ากระดาษ
      หลังจากที่"ต้นฉบับ" A4 ถูกตรวจตราครบถ้วนแล้ว จะมีทีมงานฝ่ายบรรณาธิการที่ต้องทำหน้าที่จัดการกับหน้ากระดาษให้ออกมาเป็นแอบ A5 ซึ่งก็คือขนาดมาตรฐานของพ๊อกเก็ตบุ๊คทั่วไป ตรงนี้จะมีการกำหนดรูปแบบของหนังสือด้วยนะครับว่า
        - ขอบบน ขอบล่าง ด้านข้างทั้งสอง เว้นเท่าไหร่ ?
        - ตัวหนังสือแบบไหน ? ไซส์อะไร ?
        - ขนาดช่องไฟ ช่องว่างการเว้นบรรทัดเท่าไหร่ ?
        - การย่อหน้าเท่าไหร่ ?
        ส่วนใหญ่กระบวนการนี้จะอิงตามมาตรฐานของสำนักพิมพ์แต่ละที่ครับ เพราะทุกที่มีรูปแบบการพิมพ์หนังสือต่างกันอยู่แล้วครับผม
        แต่ป๊อบอยากจะแนะนำอะไรบางอย่าง ?
        สำหรับคนที่คิดจะพิมพ์เอง เราอาจจะเจอปัญหาการจัดรูปแบบด้วยนะครับ เพราะว่าคอมส่วนใหญ่ที่เราใช้เป็นวินโดวส์ แต่บางโรงพิมพ์เขาใช้ MAC ในการจัด เพราะฉะนั้นถ้าไม่จัดการดีๆ ขยะจากวินโดว์จะไปโชว์เพียบเลยนะครับ นี่คือความผิดพลาดโดยตรงที่ป๊อบเจอ ป๊อบส่งไฟล์ไปปรากฏว่าเว้นวรรค ย่อหน้าอะไรหายหมดเลยครับ ทุกสิ่งทุกอย่างติดกันเป็นพรืด มีสระ ขยะ บ้าบอเป็นพันเป็นหมื่นตัวเลยครับ ซึ่งถ้าทีมงานไม่ชำนาญจะเสียเวลาตรงนี้มากครับ อยากให้ศึกษาดีๆด้วย แต่ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ทั่วไป เขาจะมีโปรแกรมแปลง อะไรของเขาอยู่แล้วอ่ะครับ ไม่ต้องห่วง
        หลังจากจัดหน้ากระดาษแล้ว ส่วนมากเราจะได้ดูอีกรอบครับ เพื่อตรวจว่าเขาจัดการถูกต้องไหม ? แล้วแก้ไขส่งกลับไป

 

8. ) การยิงแผ่นเพลท
        เพลทจะมีลักษณะเหมือนแผ่นใสครับแต่หนากว่า หลังจากที่จัดหน้ากระดาษเสร็จสิ้นสมบูรณ์เขาจะยิงทุกสิ่งทุกอย่างที่จัดไว้ลงในแผ่นเพรท ซึ่งแผ่นเพรทตัวนี้จะไม่สามารถแก้ไขได้แล้วนะครับผม เขาจะเอามันไปใช้เพื่อการพิมพ์รูปเล่มครับ เพราะฉะนั้นใครที่เข้าใจว่าเขาเอาต้นฉบับไปปริ๊นท์เป็นพันๆแผ่น ผิดนะครับเขาผม อิอิ

 

9.) การเข้ารูปเล่ม
         หลังจากที่ต้นฉบับถูกพิมพ์เพรทออกมาเรียบร้อย เขาก็เอาต้นฉบับพวกนี้ไปเข้ารูปเล่ม แบบที่เราเห็นตรงสันจะมีการใส่กาวด้วยอะไรประมาณนั้น ซึ่งตรงนี้นี่ต้องมีความวชาญอย่างสูงครับ เนื่องจากผิดนิดเดียว อาจเกิดกรณีหน้าสลับ หน้าหาย หน้าขาว (ขาวจริงๆ โอเลย์ตายไปเลย แบบว่าหน้าเปล่า) หน้ายับ ทำนองนั้น ซึ่งไวท์โรดเล่มล่าสุดของป๊อบก็โดนมาทุกรูปแบบเรียบร้อยครับ อิอิ ในขั้นตอนนี้เขาจะเอาปกเข้ามาเย็บด้วยนะครับผม           จะมีการเย็บอีกประเภทที่เรียกว่า "เย็บกี่" ซึ่งเป็นการเย็บที่ทนทานมาก จะเห็นเวลาเราเปิดแล้วถึงสันอ่ะครับ มันการเย็บกี่ ซึ่งจะคงสภาพหนังสือไว้ค่อนข้างนานเลยครับ แต่เสียค่าใช้จ่ายเยอะพอสมควร ใช้กับพวกอย่างหนาทั้งหลายครับ
          เมื่อเสร็จการเข้ารูปเล่ม -  "ต้นฉบับ" ของคุณ ก็จะกลายเป็น "ผลงาน" ครับ


*********************************************************************************
แต่ยังไม่จบ เพราะป๊อบยังไม่ได้เจาะลึกบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำหนังสือนะครับ
โอเค คุณทราบหมดแล้วว่าหนังสือ 1 เล่ม กว่าจะได้มามันลำบากแค่ไหน แต่ไม่ใช่แค่คุณ หรือ บรรณาธิการ หรือ โรงพิมพ์นะครับ ที่ลำบาก มีอีกหลายคนเลยที่จะมาร่วมชะตากรรมกับคุณ

 

1. ) ประชุมสโคป project
       ส่วนมากขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ต้นฉบับเสร็จและได้รับการยืนยันว่าจะตีพิมพ์ชัวร์ ทีมงานอันประกอบด้วย ประชาสัมพันธ์ ผู้จัดการ บรรณาธิการ กราฟฟิค การตลาด และอีกมามาย รวมทั้งตัวนักเขียนจะมารวมกันอยู่ในห้องเดียวเพื่อกำหนดทิศทางของหนังสือ จะมีการวางแผนว่า 
 

      - เราจะออกหนังสือเมื่อไหร่ ?
         อาจจะในงานสัปดาห์หนังสือ หรือ มหกรรมหนังสือ เพราะเป็นช่วงที่สำนักพิมพ์จะได้รายได้เต็มๆโดยไม่ต้องผ่านตัวแทนจำหน่าย (ซีเอ็ด บีทูเอส ดอกหญ้า ดวงกมล และอื่นๆ) นักเขียนกับผู้อ่านมีโอกาสได้พบปะกัน แลกเปลี่ยนความเห็น ได้แจกลายเซ็น เช็คเรตติ้ง สนุกสนานเฮฮารื่นเรงยิ่งนัก ซึ่งหนังสือที่อ่านช่วงนี้จะขายได้เยอะนะครับ บางทีเป็นพัน บางทีเป็นหมื่นก็มี แต่ข้อก็อาจจะเป็นที่โอกาสติด "ชาร์ตหนังสือ" ตามร้านหนังสือก็ลดลง เพราะคนหันไปซื้อในงานหมด เนื่องจากถูกกว่าครับ ซึ่งบางทีกำหนดการออกหนังสือก็อาจจะเป็นเดือนที่ใกล้ๆกับงาน เพื่อสร้าง Awareness หรือ ให้ผู้อ่านได้เห็นก่อน มันจะได้เป็นการกระตุ้น ให้เขาไปหาข้อมูล เพื่อนำไปสู่ Purchase Intention การตัดสินใจซื้อในที่สุดครับผม 

       - ปกเป็นยังไง ?
       ปกเป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆๆๆๆๆๆของหนังสือ เพราะมันคือ "หนังหน้า" เป็นอะไรที่คนจะเห็นอย่างแรก ถ้าปกห่วยมากกกก ต่อให้เนื้อเรื่องดีถึงขึ้นเทพบนโอลิมปัสคีรีอ่าน ก็ไม่ถูกหยิบหรอกครับ ฉะนั้นเราต้องคุยเรื่องปก, ตามประสบการณ์, ป๊อบจะวาดปกคร่าวๆให้ฝ่ายกราฟิค (คร่าวจริงๆ เส้นๆเลยอ่ะ) แล้วเล่าว่า ทำไมถึงเลือกฉากนี้ ทำไมต้องเป็นเหตุการณ์นี้ มันสำคัญยังไง ฝ่ายกราฟิคเขาจะถามเราตตลอดว่า สีตรงนี้อะไรครับ ? หน้าตาตัวนี้ยังไง ? เป็นการคุยที่สนุกและละเอียดมาก ซึ่งส่วนใหญ่ปกจะไม่ได้ถูกวางไว้แบบเดียว จะมีหลายตัวเลือกสำหรับสำรองด้วย ดังนั้นทางที่ดีนักเขียนควรจะทำการบ้านให้หนักเรื่องปกครับ เพราะมันจะเป็นตัวสื่อความคิดของนักเขียนให้คนอ่านรับรู้เป็นอย่างแรก ป๊อบเห็นนักเขียนหลายคนที่ให้เขาวาด โดยไม่ได้ปรึกษากัน ผลก็คือ ผิดคอนเซปต์ ไม่โดนใจนักเขียน แล้วใครผิดอ่ะครับ คุณไม่พูดเองนิ อิอิ เพราะฉะนั้น เราต้องขอมีส่วนร่วมกับปกให้มากที่สุดครับ อ้อ รวมถึงรูปประกอบด้วยนะครับ อย่าคิดว่าให้เขาไปคิดเอง อ่านเอง เขาไม่มีเวลาขนาดนั้นหรอกครับ เขาไม่ได้ทำงานให้เราคนเดียว ดังนั้นถ้าเป็นตัวละคร ต้องบอกสีผม สีตา ความสูง สีผิว เอาเป็น Reference ก็ได้ครับ เช่น
      "อยากได้หุ่นแบบโดราเอม่อนอ่ะครับ ขอต่างๆแบบเซลเลอร์มูน เอาผ้าคลุมแบบแบทแมน กางเกงแบบฮัลก์ แอ๊บแบ๊วประมาณโฟร์มด ล่ำประมาณสไปเดอร์แมนก็พอพี่ อ้อๆ ทรงผมโงกุนนะครับ มีรอยยิ้มแบบลูฟี่ เปลือยอกแบบสังทอง ผิวแทนแบบข้าวนอกนา แล้วอย่าลืม อันนี้สำคัญขอสะดือจุ่นแบบเทเลทับบี้อ่ะครับ"
      เพียงเท่านั้น ฝ่ายกราฟฟิคก็จะเนรมิตตัวละครของคุณได้ตามที่คุณหวังครับผม บนตัวปกนั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า "บาร์โค๊ด" ด้วยนะครับ ซึ่งบาร์โค๊ะจะต้องขึ้นทะเบียน ISBN เพื่อจดหมายเลขหนังสือของคุณด้วย เวลายิงที่เครื่องตามร้าน มันก็จะขึ้นรายละเอียดมาครับ ว่า หนังสือชื่ออะไร - ใครแต่ง - แนวอะไร - กี่หน้า - ซึ่งป๊อบก็ได้หาข้อมูลจาก http://www.nlt.go.th/th_isbn.htm มาให้สำหรับคนที่สนใจครับ ลองอ่านเป็นเกล็ดความรู้ก็ได้ครับผม
  
      - การตลาด + ประชาสัมพันธ์
      ใช่ว่าหนังสือ 1 เล่มจะวางขายในตลาดนัดซะเมื่อไหร่ หนังสือก็เหมือน product ทั่วไปที่ต้องการ Marketing มาหนุนครับ นักเขียนที่ดีจะต้องเก่งการตลาด จำป๊อบเอาไว้นะ นักเขียนที่ดีต้องรู้เรื่องนี้ด้วยทุกคนครับ ทีมงานจะวางแผนให้เราว่า จะมีการสัมภาษณ์เมื่อไหร่ ? - ออกสื่อไหนบ้าง ? - เว้นระยะเวลาห่างเท่าไหร่ ? - นักเขียนต้องออกไปแจกลายเซ็นต์เมื่อไหร่ ? - ต้องพบปะแฟนเมื่อไหร่ ? - ถ้านักเขียนไม่เป็นการตลาด ไม่รู้จักจุดยืนของตัวเอง แย่เลยนะครับ เราต้องรู้จัก Target หรือ กลุ่มเป้าหมายของเรา อย่างป๊อบ ป๊อบเสนอเลยว่า "พี่ป๊อบจะไปทัวร์ที่นี่ๆ โรงเรียนนั่นนี่นะ" เพื่อเราจะได้พบกับกลุ่มคนอ่านจริงๆ ไม่ใช่ว่าไวท์โรดไปโปรโมตใน "สถานบำเพ็ญธรรม" จะมีคนฟังไหมอ่ะครับ ? เราต้องรู้เวลา สถานที่ เสนอเขาได้ครับผม เขาไม่ตบนะ ป๊อบลองแล้ว จากนั้นเขาจะสรุปแผนให้เรา มีตารางกิจกรรมน่ารักๆให้เรา - ประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลหนังสือเราไปให้นิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ต่างๆเพื่อลงข้อควมโปรโมตให้ครับ อันนี้เขาทำให้เอง เราไม่เสียค่าใช้จ่ายนะครับผม บางคนอาจมีออกทีวี ออกวิทยุ อะไรก็ตามแต่นโยบายของแต่ละที่ไปครับ

นั่นก็คือเรื่องราวคร่าวๆที่เกิดในห้องประชุมนะครับผม คงจะเห็นแล้วว่าการเป็นนักเขียนนั้นต้องเจออะไรมากมายก่ายกองเลยครับ เพราะฉะนั้นป๊อบอยากให้ทุกคนเตรียมตัว ศึกษาอะไรต่างๆดี โดยเฉพาะผลงานของตัวเอง ต้องตีให้แตกครับ เราจะได้พูดคุยกับทีมงานได้ถูกต้องครับผม อ้อ แล้วอย่าลืมที่ป๊อบบอก หมั่นศึกษาเรื่อง "การตลาด" ของตัวเองด้วย มันจะเป็นแนวทางที่ทำให้หนังสือประสบความสำเร็จได้ไม่ยากครับ

 

ผู้แต่ง : drpop2003@hotmail.com

ลิงค์ : http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1116930

 

หมายเหตุ :เราไปพบเข้าในเว็บบอร์ด dek-d.com น่าสนใจมากสำหรับคนที่ต้องการที่ทำหนังสือสักเล่มหนึ่ง จึงนำมาเผยแพร่ในเว็บของเรา และขอขอบคุณผู้แต่ง drpop2003@hotmail  มา ณ ที่นี้


สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และขอใบเสนอราคาฟรี
เพียง Add มาที่ LINE:@INKONPAPER หรือคลิกด้านล่างรับ QR CODE

บทความที่เกี่ยวข้อง
การเข้าเล่มหนังสือของงานพิมพ์
การเข้าเล่มหนังสือ (Binding) หนึ่งในกระบวนการงานหลังพิมพ์ (Post Press) ที่จะทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ สมุด นิตยสาร แคตตาล็อก แมกกาซีน เป็นต้น สมบูรณ์แบบ การเข้าเล่มหนังสือมีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันจะมีดังนี้
มาตรฐานของขนาดกระดาษ
เรามาเรียนรู้มาตรฐานขนาดของกระดาษที่เราใช้พิมพ์กันทั้งในไทยและต่างประเทศกันดีกว่า
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy